วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อาเซียนในอนาคต

เพื่อให้ ASEAN สามารถเผชิญกับสิ่งท้าทายต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นและในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเสริมสร้างรากฐานแห่งความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคในกรอบอาเซียน อาเซียนจำเป็นต้องผลักดันความร่วมมือในสาขาต่างๆ ให้มีความก้าวหน้าขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ ดังนี้
เสริมสร้างบทบาทของเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เป็นกลไกป้องกันแก้ไขความขัดแย้งในภูมิภาค ตลอดจนพัฒนา บทบาทและการมีส่วนร่วมของอาเซียนในการแก้ไขป้องกันปัญหาหรือสถานการณ์ในภูมิภาคได้อย่างทัน เหตุการณ์ ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานอาเซียน (ASEAN Troika) เพื่อเป็นแกนนำในการส่งเสริมให้อาเซียนสามารถเผชิญสิ่งท้าทาย ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
ผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อขยายการค้าภายใน ภูมิภาคและชักจูงการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการพิจารณาแนวทางความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ ที่จะใช้เป็นพื้นฐานของความร่วมมืออาเซียนต่อเนื่องจากที่มีการจัดตั้ง AFTA และ AIA แล้วในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งในเรื่องนี้ อาจรวมถึงการเปิดเสรีเต็มรูปแบบสำหรับสินค้าบางรายการที่อาเซียนมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงระดับโลก (ASEAN Product Community) และการเปิดเสรีทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ภายใน อาเซียน เป็นต้น
เสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศ/กลุ่มประเทศนอกภูมิภาคเพิ่มเติมจากกรอบ APEC และกับสหภาพยุโรปในกรอบ ASEM โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3: East Asia Cooperation ซึ่งเป็นดำริจากที่ประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียนและผู้นำจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ และการพัฒนาความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ เขตเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (CER) และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เป็นต้น
เร่งรัดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขง โดยรณรงค์ให้ช่วงระหว่างปีค.ศ. 2000-2010 เป็นทศวรรษแห่งความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศในลุ่มน้ำโขง เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิกใหม่และสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้สอดคล้องกับตลาดของอาเซียน ทั้งนี้ โดยระดมความร่วมมือจากประเทศนอกภูมิภาค องค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชนด้วย
ร่วมกันเสริมสร้างโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Nets) เพื่อเป็นมาตรการเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ้งเน้นการขจัดความยากจน การเพิ่มการจ้างงานที่มีผลผลิตที่สูงขึ้น และการคุ้มครองกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งนี้ โดยระดมความร่วมมือและการสนับสนุนจากต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์การที่มิใช่ของรัฐบาลด้วย
เร่งกำหนดแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อสามารถปรับตัวเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่และสภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนความต้องการของภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ โดยการร่วมมือกับประเทศที่สามในลักษณะของความร่วมมือทวิภาคี ความร่วมมือในกรอบเหลี่ยมเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนความร่วมมือสามเส้า นอกจากนั้น ต้องมีการร่วมมือด้านการศึกษาในระดับภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network) เพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยของ ภูมิภาค และการพิจารณาจัดตั้งมหาวิทยาลัย ASEAN Virtual University เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยโดยใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลอื่นๆ
ตลอด 33 ปี ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าอาเซียนได้วิวัฒนาการมาจากสภาวะความจำเป็นทางการเมืองเพื่อเป็นเวทีความร่วมมือในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงให้บังเกิดขึ้นในภูมิภาค โดยต่อมาอีกระยะหนึ่งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงเริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อาเซียนก็ได้มุ่งเน้นความสนใจไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้นโดยมีการจัดตั้ง AFTA เพื่อนำไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในสภาวะที่การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศทวีความรุนแรงขึ้น โดยจนถึงปัจจุบัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้ขยายเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก และขณะนี้ อาเซียนได้เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นที่จะร่วมมือเพื่อการพัฒนาสังคมและปรับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และกำลังจะหาทางพัฒนาความร่วมมือในเชิงคุณภาพเพื่อให้ทุกฝ่ายและสังคมทุกระดับมีจิตสำนึกของความเป็นประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยให้อาเซียนเป็นองค์กรการที่สามารถเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของประชาชนในภูมิภาคนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น