วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน


การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ถูกกำหนดเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับองค์กรหลักต่าง ๆ เพื่อเตรียมการ วางแผน พัฒนา เตรียมความพร้อมให้แก่ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 โดยกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ. 2554-2558) ภายใต้กรอบ 3 เสาหลัก กับ 5 นโยบาย

จากปฏิญญา ชะอำ-หัวหิน ด้านการศึกษาฯ ต่อการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สาระสำคัญของปฏิญญาดังกล่าวเน้นความสำคัญของบทบาทการศึกษาในการสร้างประชาคมอาเซียน 3 เสาหลัก ดังนี้
  1. บทบาทการศึกษาในเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง : การสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของกฎบัตรอาเซียน การส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย การส่งเสริมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ตระหนักคุณค่าและค่านิยมทางวัฒนธรรม การสร้างเครือข่ายผู้บริหารโรงเรียนเพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษา การจัดงานฉลองวันอาเซียนในประเทศสมาชิก ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นวันก่อตั้งอาเซียน
     
  2. บทบาทการศึกษาในเสาหลักด้านเศรษฐกิจ : การจัดทำกรอบการพัฒนาทักษะในอาเซียน การพัฒนาระบบการถ่ายโอนนักเรียน การถ่ายโอนแรงงานที่มีความชำนาญการในภูมิภาค การพัฒนามาตรฐานอาชีพที่เน้นศักยภาพในอาเซียน ที่สามารถสนองตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
     
  3. บทบาทการศึกษาในเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม : การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในชุมชนชนบท การจัดหลักสูตรระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน การสนับสนุนการเรียนภาษาอาเซียน การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียนในเยาวชน การพัฒนาด้านการวิจัยและการพัฒนาในภูมิภาค การสร้างความรู้และตระหนักเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอด ชีวิต เพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน การจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับอาเซียนร่วมกัน ตลอดจนการร่วมแบ่งปันทรัพยากรและจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาค
นโยบายการศึกษาไทยเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 
รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณ 3,000 ล้านบาท (ปี 2552-2557) สำหรับแผนดำเนินการระยะ 5 ปี เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2557 จะต้องมีนักเรียน นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1 แสนคน ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาทุกระดับการศึกษาและจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ

โดยที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาของประเทศ จึงมีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อให้บรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 ตามกฎบัตรอาเซียน และการดำเนินงานตามปฏิญญา ชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทร และแบ่งปันให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมาย การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ขึ้น 1 คณะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน และผู้บริหารองค์กรหลักร่วมเป็นกรรมการ มีหน้าที่กำหนดนโยบายการดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านการศึกษา กำกัลป์ ติดตาม ประเมินผล และให้ข้อคิดเห็นเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนขององค์กรหลัก สถาบัน และหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม

ในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ได้เห็นชอบนโยบายการศึกษาของไทยเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษา ดังนี้
  • นโยบายที่ 1 : การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนัก และเตรียมความพร้อมของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558
     
  • นโยบายที่ 2 : การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญการ ที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม และการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน รวมทั้งการพิจารณาแผนผลิตกำลังคน
     
  • นโยบายที่ 3 : การพัฒนามาตรฐานการศึกษา เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษา และครูอาจารย์ในอาเซียน รวมทั้งเพื่อให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมทางอาชีพในขั้นต้น และขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
     
  • นโยบายที่ 4 : การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีการศึกษาในอาเซียน เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ ในสาขาวิชาวิชาชีพสำคัญต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษา ควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน
     
  • นโยบายที่ 5 : การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับโครงการ และภารกิจสำคัญที่องค์กรหลักต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาทุกระดับ ทั้งในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนาศักยภาพประชาชนคนไทยให้เข้าสู่การสร้างประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558
การดำเนินการด้านการจัดการศึกษาของไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจโลกจึงเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต และวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในปี 2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ว่า

“ คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี ”
การจัดการศึกษาของไทยเป็นมาตรการรับรองสำคัญต่อเป้าหมายการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งครอบคลุมการจัดทำความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา ความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่าง ๆ ควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งกำหนดให้มีการยกเว้นข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอวีซ่าสำหรับคนชาติอาเซียนสำหรับ short term visits การอำนวยความสะดวก

การออกวิซ่า และใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานมีฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญสัญชาติอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดสิ่งกีดกั้นและอุปสรรคการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน และส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินการเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประเทศไทยจำเป็นต้องผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วนของสังคมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของชาติ และผนึกความร่วมมือในการจัดการศึกษากับอาเซียน เพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มั่นคง เอื้ออาทร และร่วมแบ่งปันกันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2558

***แหล่งอ้างอิง :
  • จุไรรัตน์ แสงบุญนำ. ความรู้เรื่องประชาคมอาเซียน (การเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อการก้าวเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน) ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) เอกสารอัดสำเนา, 2554.
  • ความเป็นมาของอาเซียน. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaimaster.info/pompilai/wannisa/asean/ asean_info.html#end สืบค้น 5 มิถุนายน 2554.
  • สืบค้นและรวบรวมโดย : สำเภา สมบูรณ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษา สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 9

ปัญหาในการรวมกลุ่มและความก้าวหน้าของอาเซียน


ปัญหาในการรวมกลุ่มและความก้าวหน้าของอาเซียน

  1. ความแตกต่างทางด้านการเมืองการปกครองของภูมิภาคคือ 10 ประเทศมีการปกครอง 4 แบบ คือ
    -ประชาธิปไตย ประกอบด้วย ไทย มาเลเชีย อินโดนีเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
    -เผด็จการทหาร คือพม่า
    -ระบอบกษัตริย์ คือบรูไน
    -คอมมิวนิสต์ คือลาวและเวียดนาม
           ในประเด็นนี้ประเทศที่ส่งผลให้เกิดปัญหากับอาเซียนมากที่สุดคือพม่า เนื่องจากการปกครองในระบอบเผด็จการทหารของพม่า ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ประเทศตะวันตกซึ่งให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษย์ไม่เห็นด้วยมากนักที่อาเซียนรับพม่ามาเป็นสมาชิก โดยเฉพาะอย่างสหภาพพยุโรปที่ต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่า รวมทั้งมีผลทำให้ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและยุโรปต้องชะงักไปพอสมควร
     
  2. ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ และการนับถือศาสนา เนื่องจากประเทศในอาเซียนจะมีทั้งประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
     
  3. การที่ประเทศในอาเซียนผลิตสินค้าเหมือนกันทำให้เกิดการแข่งขันกันมากกว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือกัน
     
  4. ความแตกต่างในระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวคือมีบางประเทศที่มีระดับสูงและมีบางประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่ำมาก เช่นลาว พม่า และกัมพูชาและเวียดนาม (CLMV)
    ปัญหานี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งเพราะทำให้เกิดการจับกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยในอาเซียน นั้นคือประเทศ CLMV พยายามร่วมมือกันโดยมีเวียดนามเป็นหัวหอก
     
  5. ความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เคยมีความขัดแย้งมาในประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เช่นประเทศไทยขัดแย้งกับพม่ามาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ หรือกับเวียดนามไทยเองก็มีการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนขอมมาโดยตลอด
     
  6. การที่อาเซียนใช้ระบบฉันทามติในการขับเคลื่อนความร่วมมือทำให้ยากที่จะบรรลุเป้าหมายของความร่วมมือ
     
  7. วิถีอาเซียน (Asian Way )ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญของความก้าวหน้าในร่วมมือในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น
    -ดำเนินงานในลักษณะที่ไม่เป็นทางการสูง (Informality)
    -ใช้การทูตในลักษณะที่ไม่เป็นข่าว
    -ยึดการพูดจาหารือ (Dialogue) และหลักฉันทามติ (Consensus) เป็นหลักสำคัญ
    -เน้นการหลบเลี่ยงปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา

ไทยกับอาเซียน


ไทยกับอาเซียน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ของสมาชิกผู้ก่อตั้งและเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน ไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในกิจกรรมของอาเซียนตลอดมา รวมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อาเซียนมีโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทันการณ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระหว่างประเทศ อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน การประชุมอาเซียนว่าด้วยความ ร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันอาเซียนก็มีความสำคัญต่อประเทศไทยโดยนอกจากจะสร้างพันธมิตรและความเป็นปึกแผ่น ตลอดจนเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ และการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในอาเซียนได้เปิดโอกาสให้มีการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของประเทศไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยส่วนรวม
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
  1. ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้า ด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร
  2. ด้านอุตสาหกรรม ไทยได้รับสิทธิในการผลิตเกลือหิน และโซดาแอช ตัวถังรถยนต์
  3. ด้านการธนาคาร จัดตั้งบรรษัทการเงินของอาเซียน จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการประกันภัยแห่งอาเซียน
  4. ด้านการเกษตร การสำรองอาหารเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการปลูกป่า
  5. ด้านการเมือง สมาชิกของอาเซียนช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพ
  6. ด้านวัฒนธรรม มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้แต่ละประเทศมีความเข้าใจดีต่อกัน
ประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกทั้งในแง่การก่อตั้งและการพัฒนาให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จ เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ในส่วนของการก่อตั้ง ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนในปี พ.ศ. 2510 ในส่วนของการพัฒนา ไทยยังมีบทบาทที่สำคัญ ดังนี้
  • มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในกัมพูชา
  • การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี พ.ศ. 2535
  • ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก หรือ ARF- ASEAN Regional Forum ซึ่งเป็นเวทีที่ใช้พูดคุยปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2537
  • ความริเริ่มเชียงใหม่และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540
การก่อตั้งในช่วงนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางความคุกกรุ่นของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างประเทศมหาอำนาจในโลกเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางความหวาดวิตกของประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาที่หวั่นเกรงถึงการแพร่ขยายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ของรัสเซียและจีนที่จะครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามทฤษฎีโดมิโน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสำคัญในภูมิภาคนี้ เช่น กรณีเวียดนามรุกรานกัมพูชาเมื่อเดือนธันวาคม 1978 (พ.ศ.2521) โดยอาเซียนได้ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลในพนมเปญที่ตั้งคณะรัฐบาลด้วยการยึดครองของกองทัพเวียดนาม พร้อมกับเรียกร้องให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาในเดือนกันยายน 1989 (พ.ศ.2532) หรือการก่อตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเออาร์เอฟ ภายหลังความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาในปี 1993 (พ.ศ.2536) เพื่อให้เป็นเวทีที่ขยายกว้างขึ้นในการหารือประเด็นเรื่องความมั่นคง
ส่วนในประเด็นเศรษฐกิจ อาเซียนได้มีการบรรลุข้อตกลงในการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) จากการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ในปีเดียวกัน และหลังจากนั้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ได้กำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดยมุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2020 (พ.ศ.2563) พร้อมมุ่งที่จะจัดตั้งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิต โดยจะริเริ่มกลไกและมาตรการใหม่ๆ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน อันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงิน และตลาดเงินทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม กรอบความร่วมมือด้านกฎหมาย การพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือ
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 4 ปี 2535 (ค.ศ. 1992) ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน
  • มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก
  • โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการลดภาษีและอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี
    ตั้งแต่ปี 2540 (ค.ศ. 1997) อาเซียนได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยได้มีการแถลง ASEAN Vision 2020 ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) รวมทั้งได้ริเริ่มการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting – AFMM)1/ และความร่วมมือกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี
จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ปี 2550 (ค.ศ. 2007) ณ ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบที่จะให้เร่งการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) เป็นปี 2558 (ค.ศ. 2015) โดยได้ร่วมลงนามในแผนการดำเนินงานไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint – AEC Blueprint)
ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนยังได้ให้การรับรองกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกรอบทางสถาบันและกฎหมายสำหรับอาเซียนในการเป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำในภูมิภาค โดยกฎบัตรอาเซียนจะมีผลบังคับใช้หลังประเทศสมาชิกทุกประเทศให้สัตยาบัน

เอเปค APEC



เอเปค APEC

          "ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซีย-แปซิฟิค" หรือ "เอเปค" (ASIA-PACIFIC Economic Cooperation: APEC) จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เพื่อตอบสนองการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวมากขึ้นในหมู่ประเทศแถบเอเซีย-แปซิฟิค โดยเริ่มต้นจากกลุ่มประเทศที่อยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิค ไม่กี่ประเทศรวมตัวกัน อย่างไม่เป็นทางการ (Informal Dialogue Group) จนกลายเป็นเวทีหลัก ในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าเสรีอย่างจริงจังในที่สุด ทั้งนี้ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จุดมุ่งหมายหลักของเอเปค คือ เสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิคให้ก้าวไปข้างหน้า และสร้างจิตสำนึก ที่จะรวมกันเป็นรูปกลุ่มความร่วมมือขึ้น โดยจะไม่จัดตั้งเป็นรูปแบบองค์กรถาวร เหมือนกลุ่มประเทศอาเซียน หรือสหภาพยุโรป สมาชิกเอเปคทั้งหมด ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รวมกันทั้งสิ้นกว่า US$19,293 พันล้านเหรียญสหรัฐ (US$ billion) หรือ 47.5% ของการค้าโลกในปี พ.ศ. 2544

หัวข้อ
สมาชิกเอเปค           สมาชิกเอเปค (APEC Member Economies) จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
          ผู้สังเกตการณ์ถาวร 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat), สภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิค (Pacific Economic Cooperation Council - PECC), และเวทีหารือแปซิฟิคใต้ (South Pacific Forum - SPF)
          หมายเหตุ เอเปคมีระเบียบการเรียกชื่อสมาชิกเขตเศรษฐกิจ ต่างจากที่เรียกขานตามปกติ ทั้งในเอกสาร และในการประชุมอย่างเป็นทางการของเอเปค คือ จะใช้คำว่า "Economy - เขตเศรษฐกิจ" แทนคำว่า "Country - ประเทศ" ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายจีนเดียวแต่สองระบบเศรษฐกิจ ("One Country, Two Systems" principle) โดยกำหนดให้เรียกไต้หวันว่า "จีน ไทเป - Chinese Taipei" และตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา เมื่อฮ่องกงรวมเข้ากับประเทศจีนแล้ว กำหนดให้เรียกฮ่องกง ว่า "จีน ฮ่องกง - Hong Kong, China"
          ข้อสังเกต ในการประชุมของเอเปคไม่ว่าในระดับใด จะไม่มีการประดับธงชาติของเขตเศรษฐกิจสมาชิกไว้ ณ สถานที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะประชุม ในห้องประชุม หรืออาคารที่จัดประชุม เช่นเดียวกับการประชุมระดับนานาชาติอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากเรียกขานสมาชิกว่า economy มิใช่ country จึงไม่ควรมีธงชาติมาแสดงความเป็นประเทศใดๆ สำหรับการจัดโต๊ะประชุม จะต้องเสมอกันทุกเขตเศรษฐกิจ โดยจัดเป็นรูปวงกลมหรือสี่เหลี่ยม โดยเรียงตามลำดับชื่อเขตเศรษฐกิจ ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษไปโดยรอบ


จุดประสงค์ของเอเปค           เพื่อเสริมสร้างภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ให้มีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่เสมอภาคกัน ด้วยความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ (to build the Asia-Pacific community through achieving economic growth and equitable development through trade and economic cooperation)
          โดย
          - พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าหลายฝ่าย           - สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก
          - เพื่อลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก
          - ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ




การดำเนินงานของเอเปค           เอเปคดำเนินงานด้วยมติ ที่เป็นเอกฉันท์ (Consensus) ในหมู่สมาชิก กล่าวคือหากเขตเศรษฐกิจใด ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใดแล้ว ให้ถือว่าข้อเสนอนั้นตกไป ดังนั้น ก่อนการประชุมสำคัญๆ จะมีการทาบทามให้เห็นชอบกันก่อนเสมอ
          เอเปคได้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยตั้งอยู่ ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านโครงการ และงบประมาณกลางของเอเปค เจ้าหน้าที่บริหารของสำนักงานเลขาธิการเอเปค คือ Executive Director ดำรงตำแหน่งวาระละ 1 ปี โดยปกติ เขตเศรษฐกิจที่เป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนั้น จะรับหน้าที่ Executive Director โดยมีเขตเศรษฐกิจที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีถัดไป ทำหน้าที่เป็น Deputy Executive Director (สถานะของ Executive Director จะเป็นระดับเอกอัครราชทูต - Ambassador)
          เอเปคแยกการปฏิบัติงานออกเป็นระดับต่างๆ คือ
1. การประชุมผู้นำเอเปค (Informal Meetings of Economic Leaders) ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นตามความเหมาะสม ได้มีการประชุมระดับผู้นำเอเปคไปแล้ว คือ
          1. สหรัฐอเมริกา เบลก ไอแลนด์ (Blake Island), ซีแอตเติล 20 พฤศจิกายน 2536
          2. อินโดนีเซีย โบกอร์ 15 พฤศจิกายน 2537
          3. ญี่ปุ่น โอซากา 19 พฤศจิกายน 2538
          4. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ Subic 25 พฤศจิกายน 2539
          5. แคนาดา แวนคูเวอร์ 25 พฤศจิกายน 2540
          6. มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์ 18 พฤศจิกายน 2541
          7. นิวซีแลนด์ Auckland 12 กันยายน 2542
          8. บรูไน ดารุสซาลาม Bandar Seri Begawan 16 พฤศจิกายน 2543
          9 จีน Shanghai 20 ตุลาคม 2544
          10 เม็กซิโก Los Cabos 27 ตุลาคม 2545
          11 ไทย กรุงเทพ 20-21 ตุลาคม 2546
          12 ชิลี ซานติอาโก 20-21 พฤศจิกายน 2547
          13 เกาหลี ปูซาน 18-19 พฤศจิกายน 2548
          14 ฮานอย เวียดนาม 18-19 พฤศจิกายน 2549
          15 ซิดนีย์ ออสเตรเลีย 8-9 กันยายน 2550

2. การประชุมระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (APEC Ministerial Meetings - AMM - and Senior Officials Meetings) ประเทศต่างๆ จะผลัดกันเป็นประธานเอเปค (APEC Chair) หมุนเวียนกันไปทุกปี โดยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจขึ้นในประเทศของตน ทั้งนี้โดยมีข้อตกลงกันว่าทุกครั้งเว้นครั้ง จะต้องจัดในประเทศกลุ่มอาเซียน
          กำหนดการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสตั้งแต่แรกตั้ง คือ
          1. ออสเตรเลีย (แคนเบอร่า) 2532
          2. สิงคโปร์ 2533
          3. สาธารณรัฐเกาหลี (โซล) 2534
          4. ประเทศไทย (กรุงเทพ) 2535
          5. สหรัฐอเมริกา (ซีแอตเติล) 2536
          6. อินโดนีเซีย (จาการ์ต้า) 2537
          7. ญี่ปุ่น (โอซากา) 2538
          8. ฟิลิปปินส์ (มะนิลา) 2539
          9. แคนาดา (แวนคูเวอร์) 2540
          10. มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์) 2541
          11. นิวซีแลนด์ (ออคแลนด์) 2542
          12. บรูไน ดารุสซาลาม (บันดาร์ เสรี เบกาวัน) 2543
          13. สาธารณรัฐประชาชนจีน (เซี่ยงไฮ้) 2544
          14. เม็กซิโก (เม็กซิโก ซิตี้) 2545
          15. ประเทศไทย (กรุงเทพฯ) 2546
          16. ชิลี (ซานติอาโก) 2547
          17. เกาหลี (Busan) 2548
          18. เวียดนาม (ฮานอย) 2549
          19. ออสเตรเลีย (ดาร์วิน) 2550
          20. เปรู 2551

          - นอกเหนือจากการประชุมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ซึ่งจัดให้มีขึ้นตามปกติทุกปีแล้ว ยังมีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านอื่นๆ (Ministerial Meetings) ที่จัดขึ้นตามวาระที่เหมาะสมอีกด้วย
          - สำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค แต่เดิมรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลงาน ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีพลังงานของประเทศไทย

          ตั้งแต่ 3 ตุลาคม 2545 เมื่อมีการปรับปรุงระบบราชการ และจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นรัฐมนตรีพลังงานของไทย ไปร่วมประชุม โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงานเอเปค ของไทย
3. คณะกรรมการถาวร (Committees) ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ชุด คือ
          คณะกรรมการการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment - CTI) จัดตั้งขึ้นในปี 1994 (predecessor RTI from 1992) จากที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวก ให้สินค้าและบริการ ไหลเวียนได้อย่างสะดวก ในหมู่สมาชิก คณะกรรมการชุดนี้นับว่า เป็นกลไกสำคัญที่สุดของเอเปค ในการดำเนินการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ ตามแผนปฏิบัติการโอซากา

          ประกอบด้วยการดำเนินงานด้านต่างๆ ได้แก่ Sub-Committees/Experts Groups 11 ชุด คือ
          1. Sub-Committee on Standards & Conformance
          2. Sub-Committee on Customs Procedures
          3. Market Access Group
          4. Group on Services
          5. Investment Experts Group
          6. Intellectual Property Rights
          7. Government Procurement
          8. Mobility of Business People
          9. Competition Policy/Deregulation
        10. WTO Capacity Building
        11. Strengtening Economic Legal Infrastructure

          - สำหรับสาขาพลังงาน เอเปคได้จัดไว้ภายใต้หัวข้อ "การค้าบริการ (Services)" ซึ่งจะต้องดำเนินการเปิดเสรี ไปพร้อมกันกับสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของไทย (Thailand Energy Individual Action Plan) ตามแผนเปิดเสรีทางการค้า และบริการของเอเปค โดยที่ไทยอยู่ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ที่จะต้องเปิดเสรีสาขาพลังงาน อย่างเต็มที่ในปี 2020 คือขยายเวลา ให้ดำเนินการเปิดการค้าเสรี ให้สำเร็จหลังประเทศพัฒนาแล้วได้อีก 10 ปี
 
          คณะกรรมการเศรษฐกิจ (Economic Committee - EC) จัดตั้งขึ้นในปี 1995 (predecessor ETI 1991) จากที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค โดยปัจจุบัน เน้นการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ และการศึกษาประเด็นเศรษฐกิจเฉพาะเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกัน

          - มีคณะอนุกรรมการย่อย (Sub-Group) 1 คณะ คือ EC Outlook Taskforce
 
          คณะกรรมการ ECOTECH (SOM Committee on Economic and Technical Cooperation - ESC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1998 เพื่อช่วยเหลือ SOM ในการประสานงานด้าน ECOTECH

          - มีคณะอนุกรรมการย่อย (Sub-Group) 1 คณะ คือ Group on Economic Infrastructure, ยกเลิกเมื่อปี 2002
 
          คณะกรรมการงบประมาณและการบริหารงาน (Budget and Management Committee - BMC) ก่อตั้ง 1994 (called BAC before 1999) มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคในเรื่องงบประมาณ และการบริหารจัดการต่างๆ มีการประชุมตามปกติปีละ 2 ครั้ง

4. กลุ่มที่ปรึกษา (Advisory Group) - ปัจจุบันมีเพียง 1 กลุ่ม คือ
          สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council - ABAC) จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2538 ตามมติที่ประชุมผู้นำที่โอซากา ประกอบด้วยนักธุรกิจเขตเศรษฐกิจละ 3 คน เพื่อให้คำปรึกษาในการดำเนินงาน และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจต่างๆ
5. กลุ่มคณะทำงานเฉพาะกิจ (SOM Special Tasks Group) ปัจจุบันมี 3 ชุด คือ
          1. Steering Group on E-Commerce, ก่อตั้ง 1999
          2. Counter Terrorism Task Force
          3. Gender Focal Point Network

6. คณะทำงาน (Working Groups)
          คณะทำงานด้านต่างๆ ทั้ง 12 คณะนี้ นับเป็นกลไกการปฏิบัติงานตามปกติของเอเปค คือเป็นทั้งผู้รับนโยบายจากการประชุมระดับผู้นำ การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ไปปฏิบัติให้เกิดผลงานอย่างจริงจัง พร้อมทั้งต้องเสนอแนะ และริเริ่มงานที่จะก่อประโยชน์ ตามลักษณะงานของแต่ละคณะทำงานนั้นๆ โดยแต่ละคณะทำงาน จะแยกการดำเนินงาน ผ่านทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Groups) ต่างๆ ที่ประกอบด้วยผู้แทน จากแต่ละเขตเศรษฐกิจ ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านนั้นๆ โดยตรงมาร่วมเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
          1. คณะทำงานด้านพลังงาน (Energy), ก่อตั้ง 1990
          2. คณะทำงานด้านการประมง (Fisheries), ก่อตั้ง 1991
          3. คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development), ก่อตั้ง 1990
          4. คณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Science and Technology), ก่อตั้ง 1990
          5. คณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำ (Marine Resources Conservation), ก่อตั้ง 1990
          6. คณะทำงานด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ (Telecommunications & Information), ก่อตั้ง 1990
          7. คณะทำงานด้านส่งเสริมการค้า (Trade Promotion), ก่อตั้ง 1990
          8. คณะทำงานด้านการคมนาคมขนส่ง (Transportation), ก่อตั้ง 1991
          9. คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว (Tourism), ก่อตั้ง 1991
         10. คณะทำงานด้านความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (Agricultural Technical Cooperation), ก่อตั้ง 2539
         11. คณะทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small & Medium Enterprises), ก่อตั้ง 2538
         12. คณะทำงานด้านข้อมูลการค้าและการลงทุน (Trade & Investment Data), ก่อตั้ง 1990/ ยกเลิก พ.ย.1998

ที่มา http://www.eppo.go.th/inter/apec/int-APEC-summary-T.html

ธงชาติอาเซี่ยน


ธงชาติอาเซี่ยน

"One Vision, One Identity, One Community"
" หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม "



สัญลักษณ์อาเซียน คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
  • สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
  • สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
  • สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
  • สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

ธงชาติลาว

ธงนี้มีชื่อเรียกในภาษาลาวว่า ธงดวงเดือน ได้รับการออกแบบขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย มหาสิลา วีระวงส์ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวลาว
  • สีแดง หมายถึง เลือดแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวลาว
  • สีน้ำเงิน หมายถึง ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของชาติ
  • พระจันทร์สีขาว เป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทร์ลอยเด่นเหนือลำน้ำโขง และหมายถึงเอกภาพของชาติภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พรรคคอมมิวนิสต์ลาว) หรือหมายถึงการกลับมารวมกันอีกครั้งของชาวลาวสองฝั่งโขง

ธงชาติบรูไน

"บรูไนดารุสซาลาม" (แปลว่า นครแห่งสันติสุข) ลักษณะของธงชาตินั้นเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีเหลือง ภายในมีแถบสีขาวและสีดำวางพาดตามแนวทแยงมุม จากมุมบนด้านคันธงไปยังมุมล่างด้านปลายธง โดยสีขาวอยู่บน สีดำอยู่ล่าง กลางธงนั้นมีภาพตราแผ่นดินของบรูไน
  • พื้นธงสีเหลือง หมายถึงกษัตริย์ (ธงประจำพระองค์ของสุลต่านแห่งบรูไน ใช้ธงพื้นสีเหลือง)
  • สีขาวและสีดำ หมายถึงมุขมนตรีของประเทศบรูไน

ธงชาติเมียรม่าร์

มีลักษณะเป็นธงสามสีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในแบ่งตามแนวนอน ความกว้างเท่ากัน พื้นสีเหลือง สีเขียว และสีแดง เรียงตามลำดับจากบนลงล่าง กลางธงมีรูปดาวห้าแฉกสีขาวขนาดใหญ่ ความหมายของสัญลักษณ์ในธงชาติประกอบด้วย
  • สีเขียวหมายถึงสันติภาพ ความสงบ และความอุดมสมบูรณ์ของพม่า
  • สีเหลืองหมายถึงความสามัคคี สีแดงหมายถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง เด็ดขาด
  • ดาวสีขาวหมายถึงสหภาพอันมั่นคงเป็นเอกภาพ

ธงชาติกัมพูชา

มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ริ้ว โดยริ้วกลางนั้นเป็นพื้นสีแดง กว้าง 2 ส่วน มีรูปปราสาทหินนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลาง ริ้วที่อยู่ด้านนอกทั้งสองด้านนั้นกว้างริ้วละ 1 ส่วน
  • พื้นสีน้ำเงิน ความหมายของสัญลักษณ์ในธงนั้นสะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศ ดังปรากฏในคำขวัญประจำชาติว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" (เขมร: )
  • พื้นสีแดงมีความหมายถึงชาติ ปราสาทนครวัดสีขาวหมายถึงสันติภาพและศาสนา ซึ่งเดิมมีรากเหง้าจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน
  • สีน้ำเงินนั้นหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

ธงชาติเวียตนาม

ลักษณะของธงชาติเวียดนามนั้นเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีแดง กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ตรงกลางมีรูปดาวห้าแฉกสีเหลืองทอง สีแดงนั้นหมายถึงการต่อสู้เพื่อกู้เอกราชของชาวเวียดนาม สีเหลืองคือสีของชาวเวียดนาม ส่วนดาวห้าแฉกนั้น เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงชนชั้นต่างๆ ในสังคมเวียดนาม คือ นักปราชญ์ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้า และทหาร อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรวมชาติเวียดนามในปี พ.ศ. 2519 ความหมายในธงได้มีการอธิบายใหม่ในทางการเมืองว่า สีแดงหมายถึงการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ และดาวสีทองหมายถึงการชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ธงชาติสิงคโปร์

เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ประกอบด้วยแถบสองสีแบ่งครึ่งกลางธง แถบสีแดงอยู่ด้านบน แถบสีขาวอยู่ด้านล่าง ที่มุมธงบนด้านคันธงมีรูปพระจันทร์เสี้ยว ถัดจากรูปดังกล่าวมีรูปดาวห้าแฉก 5 ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า รูปเหล่านี้เป็นสีขาว ความหมายสำคัญขององค์ประกอบต่างๆ ในธง อันได้แก่
  • สีแดง หมายถึงภราดรภาพและความเสมอภาคของมนุษย์โดยทั่วหน้า
  • สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์และความดีงามที่แพร่หลายและคงอยู่ตลอดกาล
  • รูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น หมายถึงความเป็นชาติใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น ดาว 5 ดวง หมายถึงอุดมคติ 5 ประการของชาติ ได้แก่ ประชาธิปไตย สันติภาพ ความก้าวหน้า ความยุติธรรม และความเสมอภาค

ธงชาติมาเลเซีย

หรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "ยาลูร์ เกมิลัง" ("Jalur Gemilang" มีความหมายว่า ธงริ้วแห่งเกียรติศักดิ์) มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน พื้นสีแดงสลับสีขาวรวม 14 แถบ แต่ละแถบมีความกว้างเท่ากัน ที่มุมธงด้านคันธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินกว้าง 8 ใน 14 ส่วนของผืนธงด้านกว้าง และยาวกึ่งหนึ่งของผืนธงด้านยาว ภายในบรรจุเครื่องหมายพระจันทร์เสี้ยวและดาว 14 แฉก ที่มีชื่อว่า "บินตัง เปอร์เซกูตัน" ("Bintang Persekutuan") หรือ "ดาราสหพันธ์"
  • แถบริ้วสีแดงและสีขาวทั้ง 14 ริ้วซึ่งมีความกว้างเท่ากัน หมายถึงสถานะอันเสมอภาคของรัฐสมาชิกทั้ง 13 รัฐ และรัฐบาลกลางที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
  • ดาว 14 แฉกหมายถึงความเป็นเอกภาพในหมู่รัฐดังกล่าวทั้งหมด
  • พระจันทร์เสี้ยวหมายถึงศาสนาอิสลามอันเป็นศาสนาประจำชาติ
  • สีเหลืองในพระจันทร์เสี้ยวและดาราสหพันธ์คือสีแห่งยังดี เปอร์ตวน อากง ผู้เป็นประมุขแห่งสหพันธรัฐ
  • สีน้ำเงินนั้นหมายถึงความสามัคคีของชาวมาเลเซีย

ธงชาติฟิลิปปินส์

มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน ตอนต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว ภายในมีรูปดวงอาทิตย์รัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาวห้าแฉก 3 ดวง ตามมุมของรูปสามเหลี่ยม รูปเหล่านี้เป็นสีทอง ส่วนทีเหลือของธงนั้นเป็นแถบแบ่งครึ่งตามด้านยาวของธง ครึ่งบนพื้นสีน้ำเงิน ครึ่งล่างพื้นสีแดง หากแถบทั้งสองสีนี้สลับตำแหน่งกัน คือ แถบสีแดงอยู่บน แถบสีน้ำเงินอยู่ตอนล่าง แสดงว่าประเทศฟิลิปปินส์อยู่ในภาวะสงคราม สามเหลี่ยมสีขาวเป็นเครื่องหมายแทนความเสมอภาคและภราดรภาพ
  • พื้นสีน้ำเงินหมายถึงสันติภาพ สัจจะ และความยุติธรรม
  • พื้นสีแดงหมายถึงความรักชาติและความมีคุณค่า
  • รูปดวงอาทิตย์มีรัศมีแปดแฉกหมายถึงแปดจังหวัดแรกของประเทศ อันได้แก่ จังหวัดบาตังกาส, จังหวัดบูลาคัน, จังหวัดคาวิเต, จังหวัดลากูนา, จังหวัดมะนิลา, จังหวัดนูเอวา เอคิยา, จังหวัดปัมปังกา และจังหวัดตาร์ลัค ซึ่งพยายามเรียกร้องเอกราชจากสเปนและฝ่ายสเปนได้บังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่เหล่านั้นเมื่อเริ่มเหตุการณ์การปฏิวัติฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2439
  • ดาวสามดวงหมายถึงหมายถึงการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ เกาะลูซอน เกาะมินดาเนา และหมู่เกาะวิสายัน

ธงชาติอินโดนีเซีย

รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "ซังเมราห์ปูติห์" ("Sang Merah Putih", สีแดง-ขาว) เป็นธงที่มีต้นแบบมาจากธงประจำอาณาจักรมัชปาหิตในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงแบ่งเป็นสองส่วนตามแนวนอน
  • สีแดง หมายถึงความกล้าหาญและอิสรภาพ
  • สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ธงชาติไทย

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ
  • ชาติ (สีแดง)
  • ศาสนา (สีขาว)
  • พระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน)
สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี) ในพระราชนิพนธ์ "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนาและธรรมะ สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์

กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อารัมภบท เราบรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทนรับทราบด้วยความพึงพอใจในความสำเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียนนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน โดยระลึกถึงการตัดสินใจจัดทำกฎบัตรอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน และปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตรอาเซียน ตระหนักถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประชาชนและรัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความผูกพันกันทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนมีวัตถุประสงค์และชะตาร่วมกัน ได้รับแรงบันดาลใจและรวมกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน อัตลักษณ์เดียวกัน และประชาคมที่มีความเอื้ออาทรเดียวกัน รวมกันด้วยความปรารถนาและเจตจำนงร่วมกันที่จะดำรงอยู่ในภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพที่ถาวร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางสังคมร่วมกัน และที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ อุดมการณ์ และแรงดลใจที่สำคัญของอาเซียน เคารพความสำคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงในกิจการภายใน ฉันทามติและเอกภาพในความหลากหลาย ยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตกลงใจที่จะประกันการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และตั้งมั่นให้ ความอยู่ดีกินดี การดำรงชีวิตและสวัสดิการของประชาชนเป็นแกนของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาค เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่มีความเหนียวแน่นทางการเมือง การรวมตัวทางเศรษฐกิจ และมีความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อที่จะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันและอนาคต ผูกพันที่จะเร่งสร้างประชาคมโดยผ่านความร่วมมือ และการรวมตัวในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยข้อตกลงอาเซียนฉบับที่ 2

ในการนี้ จึงตกลงใจที่จะจัดทำกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันของอาเซียนโดยกฎบัตรนี้ และเพื่อการนี้ ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมาประชุมกันที่สิงคโปร์ ในวาระประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ได้เห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียนนี้
หมวดที่ 1
วัตถุประสงค์และหลักการ
ข้อ 1: วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของอาเซียนคือ
  1. เพื่อธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ กับทั้งเสริมสร้างคุณค่าทางสันติภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น
  2. เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวสู่สภาวะปกติของภูมิภาคโดยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
  3. เพื่อธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอื่นๆ ทุกชนิด
  4. เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนและรัฐสมาชิกของอาเซียนอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้โดยสันติในสภาวะที่เป็นธรรม มีประชาธิปไตยและมีความสมานสามัคคี
  5. เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้รับความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน
  6. เพื่อบรรเทาความยากจนและลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียนผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ
  7. เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน
  8. เพื่อเผชิญหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบ อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ
  9. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมในภูมิภาค ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในภูมิภาค
  10. เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน
  11. เพื่อเพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีและการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียนด้วยการให้ประชาชนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม
  12. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง และปราศจากยาเสพติด สำหรับประชาชนของอาเซียน
  13. เพื่อส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียน
  14. เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนด้วยการส่งเสริมความสำนึกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาคยิ่งขึ้น และ
  15. เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนขั้นแรกของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ในภาพแบบของภูมิภาคที่ เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น
ข้อ 2: หลักการ
  1. ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 1 อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนยืนยันและยึดมั่นในหลักการพื้นฐานที่ปรากฏในปฏิญญา ความตกลง อนุสัญญา ข้อตกลง สนธิสัญญา และตราสารอื่นๆ ของอาเซียน
  2. อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนจะปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
    (ก) การเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
    (ข) ความผูกพันและความรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคงและความมั่งคั่งของภูมิภาค
    (ค) การไม่ใช้การรุกราน และการข่มขู่ว่าจะใช้หรือการใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
    (ง) การอาศัยการระงับข้อพิพาทโดยสันติ
    (จ) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
    (ฉ) การเคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลาย และการบังคับ จากภายนอก
    (ช) การปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
    (ซ) การยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตาม รัฐธรรมนูญ
    (ฌ) การเคารพเสรีภาพพื้นฐาน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
    (ญ) การยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
    (ฎ) การละเว้นจากการมีส่วนร่วมในนโยบายหรือกิจกรรมใดๆ รวมถึงการใช้ดินแดนของตน ซึ่งดำเนินการโดยรัฐสมาชิกอาเซียนหรือรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนหรือผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐใดๆ ซึ่งคุกคามอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
    (ฏ) การเคารพในวัฒนธรรม ภาษาและศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน โดยเน้นคุณค่าร่วมกันของประชาชนอาเซียนในจิตวิญญาณของเอกภาพในความหลากหลาย
    (ฐ) ความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความสัมพันธ์ภายนอกทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยคงไว้ซึ่งความมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน การมองไปภายนอก การไม่ปิดกั้นและการไม่เลือกปฏิบัติ และ
    (ฑ) การยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียนซึ่งมีกฎเป็นพื้นฐาน สำหรับการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไปสู่การขจัดการ กีดกันทั้งปวงต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในระบบเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยตลาด
หมวดที่ 2
สภาพบุคคลตามกฎหมาย
ข้อ 3: สภาพบุคคลตามกฎหมายของอาเซียน

อาเซียน ในฐานะองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล ได้รับสภาพบุคคลตามกฎหมายโดยกฎบัตรนี้

หมวดที่ 3
สมาชิกภาพ
ข้อ 4: รัฐสมาชิก
  1. รัฐสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ข้อ 5: สิทธิและพันธกรณี
  1. ให้รัฐสมาชิกมีสิทธิและพันธกรณีที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎบัตรนี้
  2. ให้รัฐสมาชิกมีมาตรการที่จำเป็นทุกประการอันรวมถึงการออกกฎหมายภายในที่เหมาะสม เพื่ออนุวัติบทบัญญัติของกฎบัตรนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหมดของรัฐสมาชิก
  3. ในกรณีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้นำข้อ 20 มาใช้บังคับ
ข้อ 6: การรับสมาชิกใหม่
  1. กระบวนการในการสมัครและการรับสมาชิกของอาเซียนให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  2. การรับสมาชิกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
    (ก) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    (ข) การยอมรับโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
    (ค) การตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรนี้ และ
    (ง) ความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติพันธกรณีของสมาชิกภาพ
  3. การรับสมาชิกให้ตัดสินโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  4. รัฐผู้สมัครจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อได้ลงนามภาคยานุวัติสารกฎบัตรนี้
หมวดที่ 4
องค์กร
ข้อ 7: ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
  1. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนประกอบด้วยประมุขของรัฐ หรือ หัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิก
  2. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน:
    (ก) เป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายของอาเซียน
    (ข) พิจารณาหารือ ให้แนวนโยบาย และตัดสินใจในประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียน ในเรื่องสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก และในทุกประเด็นที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขา
    (ค) สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละคณะมนตรีที่เกี่ยวข้องให้จัดการประชุมเฉพาะกิจระหว่างรัฐมนตรี และหารือประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับอาเซียน ที่มีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ทั้งนี้ ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนรับรองกฎการดำเนินการประชุมดังกล่าว
    (ง) ตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่ออาเซียนโดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม
    (จ) ตัดสินใจในเรื่องที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนภายใต้หมวดที่ 7 และ 8
    (ฉ) อนุมัติการจัดตั้งและการยุบองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาและสถาบันอื่นๆ ของอาเซียน และ
    (ช) แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียน ที่มีชั้นและสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับความไว้วางใจและตามความพอใจของประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
  3. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ก) จัดประชุมสองครั้งต่อปี และให้รัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ และ
    (ข) เรียกประชุม เมื่อมีความจำเป็น ในฐานะการประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจ โดยมีประธานการประชุมเป็นรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน โดยจัดในสถานที่ที่รัฐสมาชิกอาเซียนจะตกลงกัน
ข้อ 8: คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  1. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี
  2. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
    (ก) เตรียมการประชุมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ข) ประสานการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ค) ประสานงานกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ เพื่อเพิ่มความสอดคล้องกันของนโยบาย ประสิทธิภาพ และความร่วมมือระหว่างกัน
    (ง) ประสานงานรายงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน ซึ่งเสนอที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (จ) พิจารณารายงานประจำปีของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับงานของอาเซียน
    (ฉ) พิจารณารายงานของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับหน้าที่และการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    (ช) เห็นชอบการแต่งตั้งและการยุติหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน และ
    (ซ) ปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรนี้ หรือหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
  3. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 9: คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ
  1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
  2. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะมีองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตน
  3. ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนของรัฐตนสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
  4. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละเสาหลักของเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียน ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
    (ก) ทำให้แน่ใจว่ามีการอนุวัติข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
    (ข) ประสานการปฏิบัติงานของสาขาต่างๆ ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และในประเด็นซึ่ง คาบเกี่ยวกับคณะมนตรีประชาคมอื่นๆ และ
    (ค) เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในขอบข่าย การดำเนินงานของตน
  5. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี และมีประธานการประชุมเป็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมจากรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน
  6. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 10: องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
  1. ให้องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
    (ก) ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่มีอยู่
    (ข) ปฏิบัติตามความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของแต่ละองค์กร
    (ค) เสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียน และ
    (ง) เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีประชาคมอาเซียนของแต่ละองค์กร
  2. องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาแต่ละองค์กรอาจมีเจ้าหน้าที่อาวุโสและองค์กรย่อยที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตนตามที่ระบุในภาคผนวก 1 เพื่อดำเนินหน้าที่ของตน ภาคผนวกดังกล่าวอาจได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการของผู้แทนถาวรประจำอาเซียน โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้
ข้อ 11: เลขาธิการอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
  1. ให้เลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ และให้ได้รับการเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพ และความเท่าเทียมกันทางเพศ
  2. ให้เลขาธิการอาเซียน
    (ก) ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งระดับสูงนี้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎบัตรฉบับนี้และตราสาร พิธีสาร และแนวปฏิบัติที่มีอยู่ของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
    (ข) อำนวยความสะดวกและสอดส่องดูแลความคืบหน้าในการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสินใจของอาเซียน และเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ค) เข้าร่วมในการประชุมต่างๆ ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน คณะมนตรีประสานงานอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา และการประชุมอาเซียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    (ง) เสนอข้อคิดเห็นของอาเซียนและเข้าร่วมการประชุมกับภาคีภายนอกตามแนวนโยบายที่ได้รับ ความเห็นชอบและตามอำนาจหน้าที่ ที่เลขาธิการอาเซียนได้รับมอบหมาย และ
    (จ) เสนอแนะการแต่งตั้งและการยุติหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียนต่อคณะมนตรีประสานงานอาเซียน เพื่อให้ความเห็นชอบ
  3. ให้เลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอาเซียนด้วย
  4. ให้เลขาธิการอาเซียนได้รับการสนับสนุนจากรองเลขาธิการอาเซียนสี่คน ซึ่งมีชั้นและสถานะของรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยให้รองเลขาธิการอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
  5. รองเลขาธิการอาเซียนทั้งสี่คนต้องมีสัญชาติที่แตกต่างจากเลขาธิการอาเซียนและมาจากรัฐสมาชิกที่แตกต่างกันสี่รัฐสมาชิกอาเซียน
  6. ให้รองเลขาธิการอาเซียนสี่คน ประกอบด้วย
    (ก) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ ซึ่งได้รับเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต คุณสมบัติ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเท่าเทียมกันทางเพศ และ
    (ข) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจต่ออายุได้อีกสามปี ให้ รองเลขาธิการอาเซียนสองคนนี้ได้รับการคัดเลือกโดยเปิดกว้างบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ
  7. ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียนและพนักงานตามที่จำเป็น
  8. ให้เลขาธิการอาเซียนและพนักงาน
    (ก) ยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของความซื่อสัตย์สุจริต ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
    (ข) ไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลหรือภาคีภายนอกอาเซียนใดๆ และ
    (ค) ละเว้นจากการดำเนินการใด ซึ่งอาจมีผลสะท้อนถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งรับผิดชอบต่ออาเซียนเท่านั้น
  9. รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐรับที่จะเคารพในลักษณะความเป็นอาเซียนโดยเฉพาะของความรับผิดชอบของเลขาธิการอาเซียนและพนักงาน และจะไม่แสวงหาที่จะมีอิทธิพลต่อเลขาธิการอาเซียนและพนักงาน ในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านั้น
ข้อ12: คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน
  1. ให้รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำอาเซียนหนึ่งคน ในระดับเอกอัครราชทูตที่มีถิ่นพำนัก ณ กรุงจาการ์ตา
  2. ผู้แทนถาวรรวมกันตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการผู้แทนถาวร ซึ่งจะต้อง
    (ก) สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
    (ข) ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาอื่นๆ
    (ค) ติดต่อประสานงานกับเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานของตน
    (ง) อำนวยความสะดวกความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก และ
    (จ) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่อาจกำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
ข้อ 13: สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ
ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งจะต้อง
(ก) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ
(ข) เป็นหน่วยงานระดับชาติ ซึ่งเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องทั้งปวงเกี่ยวกับอาเซียน
(ค) ประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการอนุวัติข้อตัดสินใจของอาเซียน
(ง) ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน
(จ) ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ และ
(ฉ) มีส่วนร่วมสร้างประชาคมอาเซียน
ข้อ 14: องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
  1. โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ให้อาเซียนจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น
  2. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจะกำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ข้อ 15: มูลนิธิอาเซียน
  1. ให้มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการดำเนินการร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน
  2. ให้มูลนิธิอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียน ผู้ซึ่งจะต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียน 
หมวดที่ 5
องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
ข้อ 16: องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
  1. อาเซียนอาจมีความสัมพันธ์กับองคภาวะซึ่งสนับสนุนกฎบัตรอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์และหลักการของอาเซียน องคภาวะที่มีความสัมพันธ์เหล่านี้ระบุอยู่ในภาคผนวก 2
  2. ให้คณะกรรมการผู้แทนถาวรบัญญัติกฎว่าด้วยขั้นตอนดำเนินงานและหลักเกณฑ์สำหรับการมีความสัมพันธ์ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน
  3. ภาคผนวก 2 อาจได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้แทนถาวร โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้
หมวด 6
ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์
ข้อ 17: ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของอาเซียน
  1. ให้อาเซียนได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในดินแดนของรัฐสมาชิกเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ของอาเซียน
  2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์จะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากระหว่างอาเซียนและรัฐสมาชิกเจ้าภาพ
ข้อ 18: ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของเลขาธิการอาเซียนและพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน
  1. ให้เลขาธิการอาเซียนและพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นทางการของอาเซียนหรือเป็นตัวแทนของอาเซียนในรัฐสมาชิก ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิ์เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระของตน
  2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ภายใต้ข้อนี้จะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากของอาเซียน
ข้อ 19 : ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียน
  1. ให้ผู้แทนถาวรของรัฐสมาชิกประจำอาเซียนและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นทางการของอาเซียนหรือเป็นตัวแทนของอาเซียนในรัฐสมาชิก ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิ์เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
  2. ให้ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียนอยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 หรือเป็นไปตามกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
หมวด 7
การตัดสินใจ
ข้อ 20: การปรึกษาหารือและฉันทามติ
  1. โดยหลักการพื้นฐาน ให้การตัดสินใจของอาเซียนอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือและฉันทามติ
  2. หากไม่สามารถหาฉันทามติได้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอาจตัดสินว่า การตัดสินใจเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะสามารถทำได้อย่างไร
  3. ไม่มีความใดในวรรค 1 และ 2 ของข้อนี้กระทบถึงวิธีการตัดสินใจที่ระบุอยู่ในตราสารทางกฎหมายของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
  4. ในกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
ข้อ 21: การอนุวัติและขั้นตอนการดำเนินงาน
  1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะบัญญัติกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของตนเอง
  2. ในการอนุวัติข้อผูกพันด้านเศรษฐกิจ อาจนำสูตรการเข้าร่วมแบบยืดหยุ่นรวมถึงสูตรอาเซียนที่ไม่รวมสมาชิกบางรัฐมาใช้ หากมีฉันทามติ
หมวด 8
การระงับข้อพิพาท
ข้อ 22: หลักการทั่วไป
  1. รัฐสมาชิกต้องพยายามที่จะระงับข้อพิพาททั้งปวงอย่างสันติให้ทันท่วงที โดยผ่านการสนทนา การปรึกษาหารือ และการเจรจา
  2. ให้อาเซียนจัดตั้งและธำรงไว้ซึ่งกลไกการระงับข้อพิพาทในทุกสาขาความร่วมมือของอาเซียน
ข้อ 23: คนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม และการไกล่เกลี่ย
  1. รัฐสมาชิกที่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทอาจจะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ที่จะใช้คนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย เพื่อระงับข้อพิพาทภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน
  2. คู่กรณีในข้อพิพาทอาจร้องขอให้ประธานอาเซียน หรือเลขาธิการอาเซียน ทำหน้าที่โดยตำแหน่ง ในการเป็นคนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย
                                    ข้อ 24: กลไกระงับข้อพิพาทตามตราสารเฉพาะ
  1. ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับตราสารเฉพาะของอาเซียนโดยกลไกและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในตราสารนั้นๆ
  2. ให้ระงับข้อพิพาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ตราสารอาเซียนใดๆ โดยสันติตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของสนธิสัญญาดังกล่าว
  3. ในกรณีที่มิกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ความตกลงทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน
ข้อ 25: การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท
ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ ให้มีการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทที่เหมาะสม รวมถึงอนุญาโตตุลาการ สำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้กฎบัตรนี้ และตราสารอาเซียนอื่นๆ
ข้อ 26: ข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้

ในกรณีที่ยังคงระงับข้อพิพาทมิได้ ภายหลังการใช้บทบัญญัติก่อนหน้านี้ในหมวดนี้แล้ว ให้เสนอข้อพิพาทนั้นไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อตัดสิน

ข้อ 27: การปฏิบัติตาม
  1. เลขาธิการอาเซียนโดยการช่วยเหลือจากสำนักเลขาธิการอาเซียน หรือ องค์กรอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับแต่งตั้ง จะสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน และส่งรายงานไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
  2. รัฐสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน อาจส่งเรื่องไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
ข้อ 28: บทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติ และกระบวนการระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

หากมิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้ รัฐสมาชิกยังคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทอย่างสันติที่ระบุไว้ในข้อ 33(1) ของกฎบัตรสหประชาชาติ หรือตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่รัฐสมาชิกคู่พิพาทเป็นภาคี
หมวด 9
งบประมาณและการเงิน
ข้อ 29: หลักการทั่วไป
  1. อาเซียนจะต้องกำหนดกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทางการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
  2. อาเซียนจะต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีและระเบียบวินัยด้านงบประมาณ
  3. บัญชีการเงินจะต้องได้รับการตรวจสอบภายในและภายนอก
ข้อ 30: งบประมาณสำหรับการดำเนินงานและการเงินของสำนักเลขาธิการอาเซียน
  1. สำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องได้รับทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. งบประมาณสำหรับการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องมาจากรัฐสมาชิกอาเซียนโดยเงินบริจาคประจำปีรัฐละเท่าๆ กัน ซึ่งจะต้องส่งให้ทันกำหนด
  3.  เลขาธิการจะต้องเตรียมงบประมาณสำหรับการดำเนินงานประจำปีของสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
  4. สำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
หมวด 10
การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน
ข้อ 31: ประธานอาเซียน
  1. ตำแหน่งประธานอาเซียนให้หมุนเวียนทุกปี บนพื้นฐานของลำดับอักษรของชื่อภาษาอังกฤษของรัฐสมาชิก
  2. ในหนึ่งปีปฏิทิน อาเซียนจะมีตำแหน่งประธานหนึ่งเดียว โดยรัฐสมาชิกที่รับตำแหน่งประธานนั้นจะทำหน้าที่เป็นประธานของ
    (ก) การประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
    (ข) คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
    (ค) คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามคณะ
    (ง) องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง ตามที่ เหมาะสม และ
    (จ) คณะกรรมการผู้แทนถาวร
ข้อ 32: บทบาทของประธานอาเซียน

รัฐสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจะต้อง
(ก) ส่งเสริมและเพิ่มพูนผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียน รวมถึง ความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแข็งขัน โดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน ฉันทามติ และความร่วมมือ
(ข) ทำให้แน่ใจว่ามีความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน
(ค) ทำให้แน่ใจว่ามีการตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลกระทบต่ออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงจัดให้มีคนกลางที่มีตำแหน่งน่าเชื่อถือและการจัดการอื่นเช่นว่า เพื่อแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้โดยทันที
(ง) เป็นตัวแทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน ภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น และ
(จ) ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อื่นตามที่อาจได้รับมอบหมาย

ข้อ 33: พิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูต

อาเซียนและรัฐสมาชิกจะต้องยึดมั่นในพิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูตที่มีอยู่ในการดำเนินกิจกรรมทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร

ข้อ 34: ภาษาทำงานของอาเซียน

ภาษาทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ

หมวด 11
อัตลักษณ์และสัญลักษณ์
ข้อ 35: อัตลักษณ์ของอาเซียน

อาเซียนจะต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นเจ้าของในหมู่ประชาชนของตน เพื่อให้บรรลุชะตา เป้าหมาย และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน

ข้อ 36: คำขวัญของอาเซียน

คำขวัญของอาเซียน คือ “วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว”

ข้อ 37: ธงอาเซียน

ธงอาเซียนจะเป็นตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก 3

ข้อ 38: ดวงตราอาเซียน

ดวงตราอาเซียนจะเป็นตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก 4

ข้อ 39: วันอาเซียน

ให้วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันอาเซียน

ข้อ 40: เพลงประจำอาเซียน
ให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียน

หมวด 12
ความสัมพันธ์ภายนอก
ข้อ 41: การดำเนินความสัมพันธ์ภายนอก
  1. อาเซียนจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร และการเจรจา ความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน กับประเทศ องค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ
  2. ความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนจะยึดมั่นในวัตถุประสงค์และหลักการที่วางไว้ในกฎบัตรนี้
  3. อาเซียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนขั้นแรกในการจัดการภูมิภาคที่อาเซียนได้ริเริ่มขึ้น และธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาคและการสร้างประชาคม
  4. ในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน รัฐสมาชิกจะประสานงานและพยายามพัฒนาท่าทีร่วมและดำเนินการร่วมกัน บนพื้นฐานของเอกภาพและความสามัคคี
  5. แนวนโยบายยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนให้กำหนดโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยการเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
  6. ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะทำให้แน่ใจว่าความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนดำเนินไปอย่างเสมอต้นเสมอปลายและเป็นไปในทางที่สอดคล้องกัน
  7. อาเซียนสามารถทำความตกลงกับประเทศ หรือองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ กระบวนการทำความตกลงดังกล่าวให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยการหารือกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียน
ข้อ 42: ผู้ประสานงานกับคู่เจรจา
  1. ในฐานะผู้ประสานงานประเทศ ให้รัฐสมาชิกผลัดกันรับผิดชอบภาพรวมการประสานงานและส่งเสริมผลประโยชน์ของอาเซียนในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้อง องค์การและสถาบันระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
  2. ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอก นอกจากหน้าที่อื่นแล้ว ให้ผู้ประสานงานประเทศ
    (ก) เป็นผู้แทนอาเซียน และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและ ความเสมอภาค โดยสอดคล้องกับหลักการของอาเซียน
    (ข) เป็นประธานร่วมในการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนภายนอก และ
    (ค) รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 43: คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศ
  1. คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามอาจตั้งขึ้นในประเทศที่มิใช่สมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตของรัฐสมาชิกอาเซียน คณะกรรมการในลักษณะเดียวกันอาจจัดตั้งขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ คณะกรรมการเช่นว่าจะต้องส่งเสริมผลประโยชน์และอัตลักษณ์ของอาเซียนในประเทศและองค์การระหว่างประเทศเจ้าภาพ
  2. ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกำหนดกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการเช่นว่า
ข้อ 44: สถานภาพของภาคีภายนอก
  1. ในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอาจมอบสถานภาพอย่างเป็นทางการให้แก่ภาคีภายนอกในฐานะประเทศคู่เจรจา ประเทศคู่เจรจาเฉพาะด้าน หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ผู้สังเกตการณ์พิเศษ ผู้ได้รับเชิญ หรือสถานภาพอื่นที่อาจจัดตั้งขึ้นต่อไป
  2. อาเซียนอาจเชิญภาคีภายนอกให้เข้าร่วมการประชุมหรือกิจกรรมความร่วมมือโดยมิต้องกำหนดให้สถานภาพอย่างเป็นทางการใดๆ ตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน
ข้อ 45: ความสัมพันธ์กับระบบสหประชาชาติ และองค์การและสถาบันระหว่างประเทศอื่น
  1. อาเซียนอาจขอสถานภาพที่เหมาะสมกับระบบสหประชาชาติ รวมทั้งกับองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
  2. คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของอาเซียนในองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
ข้อ 46: การส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐที่มิใช่รัฐสมาชิกอาเซียนประจำอาเซียน

รัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอาจแต่งตั้งและส่งเอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการประจำอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการเช่นว่า

หมวด 13
บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย
ข้อ 47: การลงนาม การให้สัตยาบัน การเก็บรักษา และการมีผลใช้บังคับ
  1. กฎบัตรนี้จะต้องได้รับการลงนามโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
  2. กฎบัตรนี้จะอยู่ใต้บังคับของการให้สัตยาบันจากรัฐสมาชิกอาเซียนทุกรัฐตามกระบวนการภายในของ แต่ละรัฐ
  3. สัตยาบันสารจะต้องเก็บรักษาไว้กับเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะแจ้งให้รัฐสมาชิกทุกรัฐทราบถึงการส่งมอบสัตยาบันสารแต่ละฉบับโดยพลัน
  4. กฎบัตรนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับที่สิบให้แก่เลขาธิการอาเซียน
ข้อ 48: การแก้ไข
  1. รัฐสมาชิกใดๆ อาจเสนอข้อแก้ไขกฎบัตร
  2. ข้อเสนอแก้ไขกฎบัตรจะต้องยื่นโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยฉันทามติต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
  3. ข้อแก้ไขกฎบัตรที่ได้ตกลงกันโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะต้องได้รับการสัตยาบันจากรัฐสมาชิกทุกรัฐ ตามข้อ 47
  4. ข้อแก้ไขใดๆ จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับสุดท้ายต่อเลขาธิการอาเซียน
ข้อ 49: อำนาจและหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน

นอกจากจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้ คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะเป็นผู้กำหนดอำนาจและหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานและต้องทำให้แน่ใจว่าอำนาจหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานสอดคล้องกัน
ข้อ 50 การทบทวน

กฎบัตรนี้อาจได้รับการทบทวนเมื่อครบห้าปีหลังจากที่มีผลใช้บังคับหรือตามที่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
ข้อ 51 การตีความกฎบัตร
  1. เมื่อรัฐสมาชิกใดๆ ร้องขอ ให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนตีความกฎบัตรตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  2. ให้ระงับข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการตีความกฎบัตรตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในหมวด 8
  3. หัวและชื่อที่ใช้ในแต่ละหมวดและในแต่ละข้อของกฎบัตรนี้มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการอ้างอิงเท่านั้น
                                               ข้อ 52 ความต่อเนื่องทางกฎหมาย
  1. สนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง ข้อตกลง ปฏิญญา พิธีสาร และตราสารอาเซียนอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก่อนการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อไป
  2. ในกรณีที่เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิกอาเซียนภายใต้ตราสารดังกล่าวและกฎบัตรนี้ ให้ยึดถือกฎบัตรนี้เป็นสำคัญ
ข้อ 53 ต้นฉบับ

ให้ส่งมอบต้นฉบับภาษาอังกฤษของกฎบัตรนี้ที่ลงนามแล้วแก่เลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะจัดทำสำเนาที่ได้รับ การรับรองให้แก่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐ

ข้อ 54 การจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียน

ให้เลขาธิการอาเซียนจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียนกับสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ตามข้อ 102 วรรค 1 ของ กฎบัตรสหประชาชาติ
ข้อ 55 สินทรัพย์ของอาเซียน

ให้สินทรัพย์และกองทุนขององค์การอยู่ในนามของอาเซียน
ทำ ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2007

ความสัมพันธ์อาเซียน-ยุโรป


ความสัมพันธ์อาเซียน-ยุโรป

อาเซียน-ยุโรป มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน โดยมีสิงคโปร์เป็นตัวกลางในการก่อให้เกิดความสัมพันธ์ เนื่องจากสิงคโปร์เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และมองว่าตนเองจะเสียผลประโยชน์จากการที่อังกฤษเจ้าอาณานิคมของตนเองจะเข้าเป็นสมาชิกอียู จึงเสนอให้อาเซียนสร้างความสัมพันธ์กับอียู

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-ยุโรปเป็นความสัมพันธ์แบบข้ามขั้ว ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะกับอาเซียนที่มีนโยบายในการสร้างความสัมพันธ์แบบข้ามขั้วกับหลายกลุ่มหลายภูมิภาค เนื่องจากภายในอาเซียนนั้นสามารถสร้างความร่วมมือได้ทั้งแล้วเกือบทั้งหมด (ยกเว้นติมอร์ตะวันออกที่คาดว่าน่าจะเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนในอนาคตอันใกล้)

ปี 2007 เป็นปีครอบรอบความสัมพันธ์อาเซียน-ยุโรป 30 ปี ทำให้มีความตกลงจัดประชุมสุดยอดเพื่อฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี (ASEAN-EU Commemorative Summit) ภายในปีนี้ โดยยุโรปสนใจจะ การเข้าเป็นภาคี TAC หรือสนธิสัญญาไมตรีและความมั่นคงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation) และยังคงเดินหน้าโครงการ FTA อาเซียน-ยุโรป

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอียูก็พัฒนามาอยู่ในกรอบที่เรียกว่า ASEM-Asia-Europe Meeting ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศบวก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ร่วมกับประเทศอียูทั้งหมด

ความสนใจของอียูที่มีต่ออาเซียนเกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของอาเซียนในทศวรรษที่ 1990 และตรงนี้เป็นสาเหตุที่อียูมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากความสัมพันธ์แบบผู้ให้และผู้รับมาเป็นความสัมพันธ์แบบเท่าๆกัน

อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับอียูก็คือ การที่อาเซียนรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก ทำให้อียูประท้วงโดยการไม่เข้าร่วมเจรจาในที่ประชุมของอาเซียนในระยะหนึ่ง (การประชุม ARF) และในการประชุม ASEM เองอียูก็ไม่ให้พม่าเข้าร่วมประชุมเนื่องจากอียูมองว่าพม่ามีปัญหาประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เหตุการณ์ในพม่าล่าสุดทำให้อียูออกโรงประณามการกระทำของพม่าและเรียกร้องให้อาเซียนกดดันพม่าให้มีการแก้ไขปัญหา

สำหรับความร่วมมือระหว่างอียูกับอาเซียนในปัจจุบันนอกจากมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าต่อกัน อียูยังมีเป้าหมายในการคานอำนาจกับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ส่วนประเด็นความร่วมมือในปัจจุบันก็หันมาให้ความสนใจกับประเด็นความมั่นคงใหม่มากขึ้น ในประชุมสุดยอดอาเซ็มครั้งที่ 6 ในปี 2006 ผู้นำของอาเซ็มได้ตกลงที่จะขยายสมาชิกภาพอาเซ็มเพิ่มขึ้นคือ อินเดีย ปากีสถาน มองโกเลีย โรมาเนีย และบัลกาเรีย แต่ในการจัดประชุมครั้งที่ 7 ในปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน มีอินเดียและปากีสถานเข้าร่วมประชุม โดยประเด็นที่ถกเถียงในที่ประชุมเรื่องปัญหาเศรษฐกิจโลก

กลยุทธ์ใหม่ของอียูทีมีต่ออาเซียน New Partnership with South East Asia
  1. สนับสนุนการมีเสถียรภาพส่วนภูมิภาคและการต่อต้านการก่อการร้าย
  2. สนับสนุนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และ Good Governance
  3. ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แก้ไขปัญหาผู้อพยพ การฟอกเงิน (Money Laundering) โจรสลัด (Piracy) ยาเสพติด
  4. ส่งเสริมความคิดริเริ่มที่เกี่ยวกับการค้าข้ามภูมิภาคระหว่างยุโรปกับอาเซียน (Trans - Regional EU – ASEAN Trade Initiative: TREATI)
  5. ส่งเสริมการพัฒนาประเทศที่มีความมั่งคั่งน้อย (Less Prosperous Countries) หรือจริงๆแล้วคือประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนานั่นเอง
  6. ส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือในนโยบายเฉพาะด้าน เช่น การค้า มหาดไทย เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การศึกษา วัฒนธรรม พลังงาน ขนส่ง เป็นต้น
ความร่วมมือในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ยุโรป 
ยุโรปกับอาเซียนได้ตกลงจะมีความร่วมมือในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีต่อกันมาตั้วแต่ ปี 2007 ในการจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ยุโรป ที่ประเทศบรูไน โดยมีกรอบในการเจรจาที่ครอบคลุมถึงการเปิดเสรีการค้า การค้าบริการและการลงทุนรวมทั้งความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยมีการจัดตั้งกรรมการร่วมจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ยุโรป (Join Committee on Asian-Europe FTA) กำหนดให้มีการเจราปีละ 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดมีการเจรจากันเป็นครั้งที่ 7 ในเดือนมีนาคม 2009 ที่มาเลเซีย แต่การประชุมไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากประเทศอาเซียนหลายประเทศไม่มีความพร้อม อียูจึงจะขอเน้นเจรจาเป็นรายประเทศที่มีความพร้อมก่อน ส่วนการประชุมของทั้งหมดจะหยุดพักเอาไว้ชั่วคราว

ประเด็นปัญหาทางการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
การที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากลัทธิอาณานิคมของชาติตะวันตกและทำให้ทุกประเทศต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง (ยกเว้นประเทศไทย) ชาติตะวันตกที่เข้ามาได้สร้างปัญหาตามมากมาย เช่น
  1. ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากชาติตะวันตกที่เข้ามาปกครองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยทำให้เมื่อถอนตัวออกไปหรือให้เอกราชจึงยัดเยียดการปกครองแบบประชาธิปไตยให้กับดินแดนอาณานิคม ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็รีบหยิบฉวยเอาการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้โดยหวังว่าจะทำให้ประเทศตนเองมีความเท่าเทียมกับเจ้าอาณานิคม แต่เมื่อนำมาใช้กลับมีปัญหามากมาย เนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สอดคล้องกับแนวคิดแบบประชาธิปไตย ทำให้ในปัจจุบันทุกประเทศมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่ง 4 ประเทศนี้จะมีทหารเข้ามามีบทบาททาวการเมืองโดยตลอด แม้กระทั่งมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่แท้จริงแล้วสิงคโปร์ก็เป็นเผด็จการแบบรัฐสภา ส่วนมาเลเซียก็ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมกันในทางการเมืองให้กับคนในประเทศ
  2. ปัญหาคอรับชั่น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่พบกับปัญหาการคอรับชั่นและความไม่มีประสิทธิภาพในระบบราชการ เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในภูมิภาคทำให้คนในสังคมเห็นแก่พวกพ้อง
  3. ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ความขัดแย้งครั้งสำคัญของภูมิภาคนี้มีอยู่หลายครั้งต่ครั้งที่สำคัญคือ สงครามเวียดนามและสงครามกัมพูชา

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559)

มีทั้งหมด 7 ยุทธศาสตร์คือ
  1. การสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็ง สมดุล อย่างสร้างสรรค์
  2. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต การค้า การลงทุน
  3. การพัฒนาคุณภาพคน ทั้งความรู้คู่คุณธรรม
  4. สังคม มั่นคงเป็นธรรม มีพลังและเอื้ออาทร
  5. เน้นการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. มีความมั่นคงของพลังงานและอาหาร
  7. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นประชาคมอาเซียน
มี 3 ด้านด้วยกัน คือ
  • ประชาคมความมั่นคงอาเซียน มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคโดยสันติวิธี และยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน
  • ประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาผสมผสานร่วมกับจุดแข็งในสังคมไทยเช่นเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดโอกาสการค้าบริการในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น
    ท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร สุขภาพ ฯลฯ
  • ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การคมนาคมขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
    การพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นปัจจัยการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจยุคใหม่ ไปกับการผสมผสานกับเทคโนโลยียุคใหม่ เข้ากับความคิดสร้างสรรค์และความรู้เหมาะสกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการใช้เทคโนโลยีเช่นเครื่องจักร